Line ID :
@ptlogis
Call Us :
061-951-6544

กฎหมาย E-Payment

PT-LOGISTIC > Uncategorized > กฎหมาย E-Payment
  • มีนาคม 25, 2019

เริ่มต้นแล้ว “กฎหมาย E-Payment” มีผลบังคับใช้ 21 มีนาคม 2562

“กฎหมาย E-Payment” หรือเรียกชื่อเต็มๆว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่48) พ.ศ.2562
กฎหมายนี้คืออะไร? เกี่ยวข้องกับใคร? และใครได้ผลกระทบบ้าง?
สรุปโดยย่อ กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับให้ “ผู้มีหน้าที่”รายงานข้อมูลให้กับกรมสรรพากร
“ผู้มีหน้าที่”ในที่นี้หมายถึง 
1. สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์
2. สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เช่น ธกส., ธอส., ธนาคารออมสิน และSME BANK เป็นต้น
3. ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Truemoney, Rabbit Linepay
กฎหมายฉบับนี้สั่งให้รายการอะไรให้กับทางกรมสรรพากร? 
สิ่งที่ทาง”ผู้มีหน้าที่”ต้องรายงานคือ “ธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ”
“ธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ” ตามที่กฎหมายฉบับนี้หมายถึง
1. การฝาก หรือรับโอนเงินเข้ามายังบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000ครั้งขึ้นไป
หรือ
2. การฝาก หรือรับโอนเงินเข้ามายังบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400ครั้งขึ้นไป และมียอดการฝาก หรือรับโอนเงินเข้ามารวมกันตั้งแต่ 2,000,000บาทขึ้นไป
** ทั้งข้อ1 และ2 หมายถึงการฝาก หรือรับโอนเงินต่อ1สถาบันการเงิน เช่นหาก นาย ก. มีบัญชีเงินฝากธนาคาร A จำนวน10บัญชี ก็จะนับรวมยอดการฝาก หรือรับโอนเงินของทุกบัญชีเงินฝากธนาคาร Aรวมกัน
***จำนวนครั้ง และยอดของธุรกรรมฝาก หรือรับโอนเงิน สามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น/ลดลงได้ภายหลังตามที่กำนดในกฎกระทรวง
เมื่อได้”ธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ”มาแล้ว ทาง”ผู้มีหน้าที่” จะต้องนำส่งรายงานให้กับกรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป 
ตัวอย่างเช่น ข้อมูลการฝาก และการรับโอนเงินตลอดทั้งปี 2562 “ผู้มีหน้าที่” จะต้องเก็บรวบรวม และประมวลผลว่าธุรกรรมของบุคคลใดเข้าข่ายธุรกรรมที่มีลักษณะพิเศษ จากนั้นต้องนำส่งรายการข้อมูลให้กับกรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563
ทั้งนี้หาก “ผู้มีหน้าที่” ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000บาท และปรับอีกวันละไม่เกินวันละ 10,000บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะปฎิบัติได้ถูกต้อง

เมื่อทราบรายละเอียดโดยสรุปของกฎหมาย E-Payment แล้ว หลายๆท่านอาจจะสงสัยว่า กฎหมายนี้จะมีผลอะไรกับเราซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา, พนักงานบริษัท,รับจ้างทั่วไป, เจ้าของกิจการบริษัท/ห้างหุ้นส่วน/ร้านค้า หรือแม่ค้าออนไลน์ เพราะตามกฎหมายก็ระบุว่า”ผู้มีหน้าที่”นั้นคือ สถาบันการ ซึ่งพูดง่ายๆก็คือธนาคารนั่นเอง
ใช่ครับ กฎหมายนี้ไม่ได้มีผลบังคับใช้โดยตรงกับบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลทั่วไป แต่ผลที่จะเกี่ยวข้องกับเราคือ…
ข้อมูลธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะที่ได้ถูกนำส่งให้กับกรมสรรพากรนั้น จะถูกสรรพากรนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง และมีผลกระทบต่อใครบ้าง?
หากทุกท่านลองค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ (เช่น google.com) จะพบว่ามีธุรกิจหลายประเภทที่มีมูลค่ามหาศาลแต่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี (พูดง่ายๆคือมีรายได้ แต่ไม่ได้เสียภาษีเข้ารัฐ) โดยที่ผ่านมาธุรกิจที่ถูกจับตามากเป็นพิเศษคือธุรกิจออนไลน์
ธุรกิจออนไลน์มียอดการเติบโตอย่างมาก โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA เปิดเผยผลสำรวจมูลค่า E-Commerce ปี2558-2561
จากภาพจะเห็นว่าธุรกิจออนไลน์มีการเติบโตที่ต่อเนื่องในอัตราที่สูง โดยปี 2561 มีมูลค่ากว่า 3ล้านล้านบาท
และจากภาพด้านบน จะเห็นว่าธุรกิจการขายสินค้าออนไลน์ที่ผ่านโซเชียลมีเดียมีสัดส่วนถึง 40% ของการซื้อขายออนไลน์ในกลุ่มคอนซูเมอร์ทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้ก็คือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รายย่อยๆเช่น พนักงานออฟฟิต, นักศึกษา หรือแม่บ้านที่หารายได้พิเศษ จนไปถึงพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รายใหญ่ๆนั่นเอง
โดยที่เราสามารถสังเกตได้เวลาที่ซื้อขายสินค้าออนไลน์โดยเฉพาะที่ผ่านทางโซเชียลมีเดียเกือบ100%จะเป็นการโอนเงินตรงไปยังบัญชีของผู้ขายที่เป็นบุคคลธรรมดา และ/หรือ ไม่มีการส่งใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อ ซึ่งหมายความว่ากลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เหล่านั้นไม่ได้อยู่ในระบบภาษี
นอกจากธุรกิจค้าขายสินค้าทางออนไลน์แล้วนั้น ยังรวมถึงธุรกิจอื่นๆที่ไม่ได้มีการยื่นแสดงรายได้กับทางกรมสรรพากร (ธุรกิจที่รับเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีโดยตรง ไม่มีการออกใบกำกับภาษี) เช่น ธุรกิจบริการต่างๆ พ่อค้าแม่ค้าตลาดนัด รับจ้างทั่วไป ซื้อขายรถมือสอง พระเครื่อง ร้านขายของชำ เป็นต้น  
รวมถึง พนักงานบริษัท หรือข้าราชการ ที่มีเงินเดือนประจำ และเสียภาษีรายได้ตามรายได้เงินเดือนที่ได้รับ แต่มีการหารายได้เพิ่มเติมพิเศษโดยไม่ได้ยื่นแสดงรายได้ในส่วนนี้

ตามหลักการที่ว่า “ผู้ที่มีรายได้ต้องยื่นเสียภาษี”
กรมสรรพาการนั้นมีความพยายามโดยตลอดที่จะรณรงค์ให้ผู้มีรายได้มายื่นเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบเอาผิดกับผู้ที่หลีกเลี่ยงภาษี
ซึ่ง“กฎหมาย E-Payment” จึงเป็นเครื่องมือช่วยให้เจ้าหน้าตรวจสอบมีข้อมูล, หลักฐานในการพิจารณาที่ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งช่วยลดการใช้ดุลพินิจในการตรวจสอบวินิจฉัยบุคคลที่มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยง หรือยื่นแบบแสดงรายได้เป็นเท็จ 

ดังนั้น หากท่านใด (บุคคลธรรมดา, พนักงานบริษัท,รับจ้างทั่วไป, เจ้าของกิจการบริษัท/ห้างหุ้นส่วน/ร้านค้า หรือแม่ค้าออนไลน์) มีการเสียภาษี ยื่นแบบแสดงรายได้ที่เป็นจริงอยู่แล้ว ต่อให้มีการรับโอนเงินเกินกว่าจำนวนครั้ง หรือเกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดตามกฎหมาย E-Paymentนี้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกังวลว่าจะถูกเรียกไปตรวจสอบ หรือหากถูกเรียกก็เพียงเตรียมหลักฐานตามความเป็นจริงเข้าไปชี้แจง

ส่วนท่านใดที่มีรายได้ที่ยังไม่ได้เข้าระบบภาษี และ/หรือไม่ได้ยื่นแสดงรายได้ตามจริง ทางเรามีคำแนะนำดังนี้
1. ยื่นแสดงรายได้ตามจริงให้ครบถ้วน
2. แยกบัญชีใช้จ่ายส่วนตัว กับบัญชีที่ไว้ทำธุรกิจ หรือรับเงินรายได้พิเศษ ไม่ควรใช้บัญชีเดียวกัน เพื่อให้สามารถชี้แจงแยกรายการต่างๆได้สะดวก
3. จดทะเบียนพาณิชย์ หรือจดทะเบียนนิติบุคคล เช่นห้างหุ้นส่วน, บริษัท เป็นต้น และดำเนินวิธีการตามหลักการทางบัญชีของกรมสรรพากรให้ครบถ้วน

สุดท้ายนี้สำหรับท่านที่คิดว่าทำมาตั้งนานไม่เห็นเคยโดนตรวจสอบ คิดว่ากรมสรรพากรไม่รู้หรอก คนทั้งประเทศตั้งเยอะจะตรวจหมดได้อย่างไร คงไม่มาตรวจเราหรอก คงไปตรวจรายใหญ่ๆมั้ง

หรือท่านที่กำลังคิดหาวิธีหลบเลี่ยง หาช่องโหว่ของกฎหมาย
**หนีภาษี มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000-200,000บาท จำคุกตั้งแต่ 3เดือน-7ปี
**หนีภาษี ต้องเสียภาษีเพิ่ม 1.5%ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยนับเริ่มตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายได้จนถึงวันที่จ่ายครบ
**หนีภาษี ต้องเสียเบี้ยปรับ 2เท่าของภาษีที่ต้องจ่ายจริง

ทั้งหมดนี้ไม่คุ้มแน่ หากการหาช่องโหว่หลบเลี่ยงของท่านมาถึงทางตัน หรือหากวันนี้ท่านไม่โดนตรวจสอบ แต่ไปโดนในอีก5ปี 10ปีข้างหน้า ในวันที่กิจการกำลังเจริญเติบโต ต้องการผู้นำแต่ท่านต้องมาติดคุก และเสียค่าปรับจำนวนมหาศาล

ดังนั้นเข้าระบบภาษีเสียตั้งแต่วันนี้ครับ เพราะการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของทุกคน รวมทั้งยังเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจของท่านให้มีความยั่งยืน อย่างมั่นคงด้วยครับ